เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 9.00 - 22.00 น.

งานวิจัยคืออะไร ทำไมนักศึกษาต้องทำก่อนจบ สรุปให้แบบกระชับเข้าใจง่าย

งานวิจัยคืออะไร ทำไมนักศึกษาต้องทำก่อนจบ สรุปให้แบบกระชับเข้าใจง่าย

 

        งานวิจัย วิทยานิพนธ์ โครงงานคอมพิวเตอร์ โปรเจคจบ หรือโปรเจคนักศึกษาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับนักศึกษาอย่างมากในหลายด้าน นอกจากจะต้องทำก่อนจบแล้วยังสามารถช่วยให้เข้าใจในสาขาวิชาของตนได้ดียิ่งขึ้น เพราะเป็นการนำเอาความรู้ที่ได้เรียนมาใช้ แต่ก่อนอื่นต้องรู้ความหมายของงานวิจัยก่อน จากนั้นไปดูต่อว่าทำไมเราต้องทำ ทำแล้วได้ประโยชน์ยังไงดูได้ด้านล่างเลย

เลือกอ่านตามหัวข้อได้เลยนะครับ
งานวิจัยคืออะไร
งานวิจัยมีกี่ประเภท
ทำไมนักศึกษาต้องทำงานวิจัยก่อนจบ
ขั้นตอนการทำงานวิจัย
ประโยชน์ของงานวิจัย
สรุปการทำงานวิจัยสำหรับนักศึกษา

งานวิจัยคืออะไร

        งานวิจัย คือ กระบวนการที่มีการศึกษาและการสืบค้นเพื่อตอบคำถาม หรือสืบค้นข้อมูลที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมาก่อน เป็นข้อมูลที่มีความไม่แน่นอน เพื่อค้นหาความรู้ใหม่ หรือการเสริมสร้างความรู้ใหม่ และเป็นการพัฒนาทฤษฎี เทคนิคใหม่ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหรือสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ มีลักษณะและขอบเขตที่แตกต่างกันไปตามสาขาวิชาและระดับการศึกษา โดยทั่วไปแล้วงานวิจัยมักเป็นการศึกษาหรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาหรือหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่นักศึกษากำลังศึกษา  หลักการของงานวิจัยประกอบด้วยขั้นตอนการวางแผน การดำเนินการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์และตีความข้อมูล และการสื่อสารผลลัพธ์ที่ได้ในรูปแบบของรายงานวิจัยหรือบทความวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับชุมชนวิชาการและประชาชนที่สนใจในเรื่องที่วิจัยเกี่ยวข้อง งานวิจัยสามารถมีลักษณะและเป้าหมายที่แตกต่างกันได้ เช่น

  • การวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) ซึ่งเน้นการค้นหาความรู้ใหม่และการเสริมสร้างทฤษฎี 
  • การวิจัยประยุกต์ (Applied Research) ซึ่งเน้นการนำความรู้มาใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันหรือในอุตสาหกรรม
  • การวิจัยพัฒนา (Developmental Research) ซึ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมหรือธุรกิจ

        เมื่อทำงานวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว ผู้วิจัยจะต้องสรุปผลการวิจัยที่ได้มาในรูปแบบที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายและเป็นรูปแบบที่ถูกต้องตามหลักทางวิชาการ การสรุปผลการวิจัยที่มีหลักฐานทางสถิติและผลการทดสอบมีความถูกต้อง แม่นยำถือเป็นสิ่งที่สำคัญและน่าเชื่อถือของงานวิจัยนั้นๆ สรุปว่างานวิจัยคือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มุ่งหมายหาความรู้ใหม่ ค้นคว้าข้อมูล วิเคราะห์และตีความข้อมูล เพื่อพัฒนาความเข้าใจและแก้ไขปัญหาหรือสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ และส่งผลลัพธ์ในรูปแบบของรายงานหรือบทความเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับชุมชนวิชาการและประชาชนที่สนใจในเรื่องงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

งานวิจัยมีกี่ประเภท

        ประเภทของงานวิจัยสามารถแบ่งได้หลายประเภท โดยขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง ซึ่งแต่ละประเภทมีลักษณะและวิธีการวิจัยที่แตกต่างกัน การศึกษาประเภทของงานวิจัยมีประโยชน์ต่อการพิจารณาโครงการวิจัยตามหลักเกณฑ์ และแนวทางการดำเนินการวิจัยในแต่ละประเภทดังนี้
                1.แบ่งตามระเบียบวิธีวิจัย แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

                        1.1 การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (Historical research) เพื่อค้นหาความจริงในอดีตที่ผ่านมา
                        1.2 การวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive research) เพื่อค้นหาความจริงในสภาพปัจจุบันถายใต้สถานการณ์ตามธรรมชาติ
                        1.3 การวิจัยเชิงทดลอง (Experimental research) เพื่อค้นหาความรู้ความจริงภายใต้สถานการณ์ที่ถูกสร้างขึ้น (treatment) เพื่อพิสูจน์ผลของตัวแปรที่ศึกษา
                2.แบ่งตามสาขาวิชา แบ่งได้หลายประเภท เช่น
                        2.1 การวิจัยทางสังคมศาสตร์ ได้แก่ การวิจัยเกี่ยวกับสังคม การเมือง การปกครอง เป็นต้น
                        2.2 การวิจัยทางมนุษย์ศาสตร์ ได้แก่ การวิจัยเกี่ยวกับภาษา ศาสนา ปรัชญา เป็นต้น
                        2.3 การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ การวิจัยทางเคมี ฟิสิกส์ วิศวกรรม แพทย์ เป็นต้น
                        2.4 การวิจัยทางธุรกิจ ได้แก่ การวิจัยด้านบัญชี ด้านการผลิต ด้านการตลาด ในบางกรณีอาจจัดอยู่ในด้านการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เป็นต้น
                3.แบ่งตามประโยชน์ที่ได้รับ แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
                        3.1 การวิจัยบริสุทธ์ (Pure research) บางกรณีเรียกว่า การวิจัยพื้นฐาน (Basic research) เป็นการวิจัยที่มุ่งหาความรู้ความเป็นจริงที่เป็นหลักการ กฏเกณฑ์ ทฤษฎี เพื่อขยายพื้นฐานความรู้ทางวิชาการให้กว้างขวางออกไป
                        3.2 การวิจัยประยุกต์ (Applied research) เป็นการวิจัยเพื่อนำผลไปใช้ในการปรับปรุงสภาพของสังคม และความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้น ส่วนมากได้แก่การวิจัยทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการศึกษา
                        3.3 การวิจัยเชิงปฏิบัติ (Action research) เป็นการวิจัยเพื่อนำผลมาใช้แก้ปัญหาในการปฏิบัติงานในองค์กร หน่วยงาน หรือสถานการณ์เฉพาะใดๆ โดยที่ผลหรือวิธีการที่ได้จากการวิจัยนั้นอาจะไม่สามารถนำไปใช้กับองค์กร หน่วยงานหรือสถานการณ์อื่นได้
                4. แบ่งตามวิธีการศึกษา แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
                        4.1 การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) เป็นการวิจัยที่ค้นหาความรู้ความจริงโดยอาศัยข้อมูลที่เป็นเชิงปริมาณ ในการวิเคราะห์ข้อมูลจะต้องใช้วิธีการทางสถิติเข้ามาช่วย
                        4.2 การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) เป็นการวิจัยที่ค้นหาความรู้ความจริงเชิงคุณลักษณะหรือเชิงคุณภาพ การเก็บรวบรวมข้อมูลต้องการให้ได้สภาพจริงตามธรรมชาติ ปกติ ใช้การสังเกต จดบันทึก โลกทัศน์ วิพากษ์วิจารณ์ ฯลฯ
                5. แบ่งตามชนิดของข้อมูล แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
                        5.1 การวิจัยเชิงประจักษ์ (Empirical research) เป็นการวิจัยที่ค้นหาความรู้ความจริงโดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิ ในสภาพปัจจุบัน และมักใช้วิธีการทางสถิติมาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล
                        5.2 การวิจัยเชิงวิพากษ์วิจารณ์หรือเชิงไม่ประจักษ์ (Nonempirical research) เป็นการวิจัยที่ค้นหาความรู้ความจริง โดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่แล้วในเอกสาร หนังสือ ตำรา ฯลฯ มักใช้การวิพากษ์วิจารณ์แทนการใช้วิธีทางสถิติ

ทำไมนักศึกษาต้องทำงานวิจัยก่อนจบ

       เมื่อเรารู้ความหมายของงานวิจัยแล้ว ทีนี้เรามาว่ากันต่อ ทำไม?เราต้องทำงานวิจัยก่อนจบการศึกษา ซึ่งนักศึกษาหลายคนก็คงสงสัย งานวิจัย วิทยานิพนธ์ โครงงานคอมพิวเตอร์ โปรเจคนักศึกษา โปรเจคจบ แล้วแต่จะเรียก ที่เป็นโปรเจคก่อนจบและเป็นกระบวนการหนึ่งที่นักศึกษาต้องใช้องค์ความรู้ของวิชาต่างๆ ที่ร่ำเรียนมาตลอดทั้ง 2-4 ปี (แล้วแต่หลักสูตร) มาประยุกต์ใช้หรือพัฒนาต่อยอดความรู้เดิม หัวข้อเรื่องที่นักศึกษาสนใจ (หรืออาจารย์สนใจแต่นักศึกษาไม่สนใจแต่ต้องสนใจ ฮ่าๆ) เลือกมาศึกษา โดยตั้งสมมติฐาน ทดลอง วิเคราะห์ และสรุปผล พัฒนาในรูปแบบที่เป็นซอฟต์แวร์ (software) หรือฮาร์ดแวร์ (hardware) ที่ให้ประโยชน์ในการปฏิบัติจริง เพื่อค้นหาวิทยาการหรือความรู้ใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เป็นการดึงศักยภาพออกมาใช้ทำผลงานชิ้นสุดท้าย ต่อไปเรียนจบแล้ว เราอาจจะไม่มีโอกาสทำงานวิจัยอีก การทำโปรเจคจบเหมือนเป็นผลงานสิ่งสุดท้ายให้เราได้ดูเเละนึกถึงเป็นผลงานที่เราไม่มีวันลืมก็ว่าได้ บางบริษัทที่รับสมัครงานจะใช้โปรเจคจบของนักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจที่จะรับเข้าทำงานอีกด้วย

ขั้นตอนการทำงานวิจัย


รูปภาพแสดงขั้นตอนการทำงานวิจัย

1.ปัญหาหัวข้อวิจัย ขั้นแรกต้องหาหัวข้องานวิจัยให้ได้ก่อน โดยอ่านได้จากบทความเรื่องการได้มาซึ่งปัญหางานวิจัย หรือยังไม่มีแนวทางให้ดูตัวอย่างหัวข้องานวิจัย จากนั้นทำการตั้งชื่องานวิจัย
2.วัตถุประสงค์ ต้องสอดคล้องกับปัญหางานวิจัย โดยประมาณ 3 - 5 ข้อ
3.ทบทวนวรรณกรรม เป็นการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิจัยของเรา สามารถศึกษาได้จากเทคนิคการทบทวนวรรณกรรม (Literature review) จะได้รู้ว่ามีใครเคยทำอะไรไปบ้างแล้ว หากงานวิจัยเราไม่ซ้ำก็สามารถทำได้ แต่หากซ้ำก็ไม่ควรเอามาทำ หรืออยากทำลองไปปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาดูก่อนว่าพอจะมีทางหรือช่องว่างให้ทำได้ไหม
4.ออกแบบการวิจัย มีวิธีวิจัยครบตามวัตถุประสงค์ สร้างกรอบแนวคิดการวิจัย นำเสนอเป็นแผนภาพเพื่อให้เข้าใจง่าย กำหนดขอบเขตการวิจัยให้ชัดเจน
5.ตั้งสมมติฐาน ต้องสมเหตุสมผลตามทฤษฎีและความรู้ในศาสตร์วิชานั้น สามารถคาดคะเนเพื่อตอบโจทย์ประเด็นวิจัยได้
6.ประชากรกลุ่มตัวอย่าง เป็นการระบุประชากรโดยอ้างถึง หรือเฉพาะกลุ่ม จำนวนขนาดตัวอย่าง วิธีการสุ่มตัวอย่าง
7.เครื่องมือวิจัย ต้องกำหนดเครื่องมือวิจัยที่จะใช้ให้เหมาะสม 
8.เก็บรวบรวมข้อมูล ต้องระบุเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล วิธีการเก็บข้อมูล 
9.วิเคราะห์ข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสามารถทำให้สรุปผลลัพธ์ของข้อมูลได้อย่างแม่นยำ และสามารถสรุปผลการวิจัยให้สมบูรณ์
10.สรุปผลการวิจัย ผลลัพธ์ต้องสามารถตอบโจทย์ตามวัตถุประสงค์ได้ทุกข้อ และนำเสนอออกมาให้เข้าใจได้ง่าย
11.เขียนรายงาน เป็นการนำข้อมูลที่ได้มาเขียนเป็นรายงานรูปเล่มวิจัย 1 - 6 บท (แล้วแต่สถานศึกษา) จัดทำคู่มือ ภาคผนวก ตรวจสอบการคัดลอกผลงาน Plagiarism
12.นำเสนอผลการวิจัย ทำสไลด์สำหรับนำเสนองานวิจัย ไม่ควรคัดลอกข้อมูลจากในรายงานวิจัย เนื้อหาควรสรุปแบบย่อ สามารถเข้าใจได้ง่าย ให้ฝึกซ้อมนำเสนอผลงาน ก่อนสอบสัก 2 - 3 ครั้ง

ประโยชน์ของงานวิจัย

  1. ขยายความรู้ โดยช่วยให้เราทำความเข้าใจกับเรื่องราวที่ยังไม่รู้จักหรือเคยคิดถึงมาก่อน จากนั้นเราจะสามารถนำความรู้ที่ได้มาใช้ในชีวิตประจำวัน หรือพัฒนาสิ่งต่างๆ ได้
  2. สร้างนวัตกรรม โดยช่วยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต หรือส่งเสริมความก้าวหน้าในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยี แพทย์ วิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ
  3. แก้ไขปัญหา โดยช่วยให้เราสามารถหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน หรือในระบบได้ ซึ่งอาจเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี
  4. พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสังคมและสิ่งแวดล้อมช่วยให้เราเข้าใจปัญหาที่ก่อให้เกิดความไม่สมดุล และต้องการการแก้ไข ทำให้เกิดการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อทุกคน
  5. ส่งเสริมการศึกษา โดยช่วยให้มีการเสริมสร้างความรู้ทางวิชาการและส่งเสริมให้กับการศึกษาในทุกระดับ ทำให้เกิดนักวิจัยที่มีความรู้และความเข้าใจที่เชี่ยวชาญเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเรียนรู้
  6. สนับสนุนการตัดสินใจ งานวิจัยเป็นข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในทุกด้านของชีวิต เช่น การตัดสินใจทางธุรกิจ การตัดสินใจในการดูแลสุขภาพ การตัดสินใจเรื่องการเลือกตั้ง เป็นต้น
  7. ส่งเสริมการพัฒนาประเทศ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศช่วยให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศต่างๆ และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนในสังคม
  8. พัฒนาทักษะและเสริมสร้างศักยภาพ โดยส่งเสริมให้มีการพัฒนาทักษะและความรู้ใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน และชีวิตประจำวัน ช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการแก้ไขปัญหาและเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ

สรุปการทำงานวิจัยสำหรับนักศึกษา

        การทำงานวิจัยเป็นกระบวนการที่นักศึกษาต้องทำก่อนจบการศึกษา ซึ่งต้องใช้องค์ความรู้ของวิชาที่เรียนมา ศึกษาและการสืบค้นเพื่อตอบคำถาม หรือสืบค้นข้อมูลที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมาก่อน เพื่อค้นหาความรู้ใหม่ หรือการเสริมสร้างความรู้ใหม่ และการพัฒนาทฤษฎีหรือเทคนิคใหม่ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหรือสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ เกิดประโยชน์กับนักศึกษาเองและประเทศชาติ หากยังไม่รู้จะเริ่มยังไงดีลองมาดูวิธีการเริ่มทำวิจัยสำหรับนักศึกษา

        ถ้าชอบคอนเทนต์แบบนี้สามารถติดตามข่าวสารและบทความที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยของ makewebproject เพื่ออัปเดทความเคลื่อนไหวของการเขียนโปรแกรมภาษา HTML หากท่านมีข้อเสนอแนะ หรือติดปัญหาส่วนไหนสามารถสอบถามผ่าน Facebook หรือ Line ได้เลยครับ

อ่านข่าวอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ บทความและเทคนิคการทำวิจัย

 

แชร์ข่าวนี้ให้เพื่อนคุณ:
กลับหน้าเทคนิคการทำโปรเจค

 

อย่าลืมกดติดตามอัปเดตข่าวสาร เทคนิคดีๆกันนะครับ Please follow us

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: